วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

กลุ่มยาขับปัสสาวะ / Diuretic.


กระเจี๊ยบแดง



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Hibiscus sabdariffa  L.

ชื่อสามัญ :   Jamaican Sorel, Roselle

วงศ์ :   Malvaceae

ชื่ออื่น :  กระเจี๊ยบ  กระเจี๊ยบเปรี้ย  ผักเก็งเค็ง  ส้มเก็งเค็ง  ส้มตะเลงเครง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุปีเดียว สูง 1-2 เมตร เปลือกต้นเรียบ ลำต้นและกิ่งสีม่วงแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบหยักเว้าลึก 3-5 แฉก แต่ละแฉกกว้าง 0.5-3 ซม. ยาว 3-8 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ก้านใบยาว 4-15 ซม. ดอก ออกเดี่ยวตามซอกใบ มีริ้วประดับสีแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก สีแดงเข้ม อวบน้ำ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ตรงกลางดอกสีม่วงแดง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผล รูปไข่ สีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง ติดทนขนาดใหญ่รองรับอยู่จนผลแก่ ผลแห้งแตกได้ เมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ : กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล ใบ ดอก ผล เมล็ด

สรรพคุณ :

กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล 
1. เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย 
2. ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแรงแต่อย่างใด 
3. น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง 
4. ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งแรงได้ดี 
5. น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง 
6. ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ 
7. เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ 
8. เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่

ใบ - มีรสเปรี้ยว แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก

ดอก -  แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก

ผล - ลดไขมันในเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ

เมล็ด -  รสเมา บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด 
นอกจากนี้ ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในสำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้วยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา  (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป
สารเคมี : สารเคมีที่สำคัญใน ดอก พบ Protocatechuic acid. hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin

คุณค่าด้านอาหาร
          น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ส้มพอเหมาะ" ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
          น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ



ทองกวาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Butea monosperma (Lam.) Taub
ชื่อพ้อง : Butea frondosa  Wild.

ชื่อสามัญ :   Flame of the Forest, Bastard Teak

วงศ์ :   Leguminosae-Papilionoideae

ชื่ออื่น :  กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ) จอมทอง (ภาคใต้) จ้า (เขมร) ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 
ส่วนที่ใช้ :  ดอก ยาง ใบ เมล็ด

สรรพคุณ :

ดอก 
- รับประทานเป็นยาถอนพิษไข้ แก้กระหายน้ำ 
- ผสมเป็นยาหยอดตา แก้เจ็บตา ฝ้าฟาง 
- เป็นยาขับปัสสาวะ สมานแผลปากเปื่อย แก้พิษฝี

ยาง - ใช้แก้ท้องร่วง

ใบ 
- ตำพอกฝี และสิว แก้ปวด ถอนพิษ 
- แก้ท้องขึ้น ขับพยาธิ แก้ริดสีดวง

เมล็ด 
- ขับไส้เดือน 
- บดผสมน้ำมะนาว ทาแก้ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดงและแสบร้อน

ข้อควรระวัง : เนื่องจากหลักฐานทางด้านความเป็นพิษมีน้อย จึงควรที่จะได้ระมัดระวังในการใช้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ
ด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มีรายงาน 2 ฉบับคือ

รายงานผลด้านฮอร์โมนเพศหญิง ผู้วิจัยพบว่า ถ้าใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ในขนาดตั้งแต่ 3.2 มก./กก./วัน ขึ้นไปมีผลด้านฮอร์โมนเพศหญิง

รายงานเรื่องการสกัดแยกสารไดโซบิวตริน (Isobutrin) และ บิวตริน (Butrin) ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันอันตรายต่อตับเนื่องจากสารพิษ ได้แก่ คาร์บอน เตทตร้าคลอไรด์ และ กาแลคโตซามีน ได้

สารเคมี - สารเคมีที่พบในดอกทองกวาว คือ Pongamin (Karanin), Kaempferol, ?-sitosterol, Glabrin, Glabrosaponin, Stearic acid, Palmitic acid, Butrin, Isobutrin coreopsin, Isocoreopsin, Sulfurein monospermoside และ Isomonospermoside สารที่พบส่วนใหญ่คือสาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสีดอกทองกวาว มีสารที่มีรสหวานคือ glabrin.



ตะไคร้

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cymbopogon citratus  Stapf.

ชื่อสามัญ :   Lemon Grass, Lapine

วงศ์ :   Poaceae (Gramineae)

ชื่ออื่น :  จะไคร้ (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ห่อวอตะไป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หัวสิงโต (เขมร-ปราจีนบุรี) ตะไคร้แกง (ทั่วไป)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชผักสวนครัว เรียกว่าพืชล้มลุก ทรงพุ่ม
ส่วนที่ใช้ :

ทั้งต้น  เก็บได้ตลอดปี ล้างให้สะอาด ใช้สดหรือผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เก็บไว้ใช้

ราก  เก็บได้ตลอดปี ล้างให้สะอาด ใช้สด ใบสด

สรรพคุณ :

ทั้งต้น 
1. รสฉุน สุมขุม แก้หวัด ปวดศีรษะ ไอ 
2. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ บำรุงไฟธาตุ 
3. ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้ท้องเสีย 
4. แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำจากหกล้ม ขาบวมน้ำ 
5. แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว ขับปัสสาวะ ประจำเดือนมาผิดปกติ 
6. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้โรคหืด

ราก 
1. แก้เสียดแน่น แสบบริเวณหน้าอก ปวดกระเพาะอาหารและขับปัสสาวะ 
2. บำรุงไฟธาตุ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะพิการ 
3. รักษาเกลื้อน แก้อาการขัดเบา

ใบสด - มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้ไข้

ต้น -  มีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ผมแตกปลาย เป็นยาช่วยให้ลมเบ่งขณะคลอดลูก ใช้ดับกลิ่นคาว แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุให้เจริญ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วปัสสาวะพิการ แก้หนองใน

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง 
-ใช้ลำต้นแก่ๆ ทุบพอแหลก ประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 40- 60 กรัม ) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือประกอบเป็นอาหาร
- นำตะไคร้ทั้งต้นรวมทั้งรากจำนวน 5 ต้น สับเป็นท่อน ต้มกับเกลือ ต้ม 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว รับประทาน 3 วัน จะหายปวดท้อง

แก้อาการขัดเบา ผู้ที่ปัสสาวะขัดไม่คล่อง (แต่ต้องไม่มีอาการบวม)
- ใช้ต้นแก่สด วันละ 1 กำมือ (ประมาณ 40- 60 กรัม , แห้งหนัก 20- 30 กรัม ) ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
- ใช้เหง้าแก่ที่อยู่ใต้ดิน ฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วไปอ่อนๆ พอเหลือง ชงเป็นชาดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

คุณค่าทางด้านอาหาร :
          ตะไคร้ยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะช่วยเพิ่มเกลือแร่ที่จำเป็นหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และยังมีวิตามินเอ รวมอยู่ด้วย

สารเคมี :
          ใบ - มีน้ำมันหอมระเหย 0.4-0.8% ประกอบด้วย Citral 75-85 %  Citronellal, Geraniol Methylheptenone เล็กน้อย , Eugenol และ Methylheptenol
          ราก - มี อัลคาลอยด์ 0.3%


ทานตะวัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Helianthus annuus  L.

ชื่อสามัญ :   Sunflower.

วงศ์ :   Asteraceae (Compositae)

ชื่ออื่น :  บัวตอง (ภาคเหนือ) ชอนตะวัน (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : 
ส่วนที่ใช้ : แกนต้น ใบ ดอก ฐานรองดอก เมล็ด เปลือกเมล็ด ราก

สรรพคุณ :

แกนต้น - ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่นขาว ไอกรน แผลมีเลือดออก
ดอก - ขับลม ทำให้ตาสว่าง แก้วิงเวียน หน้าบวม บีบมดลูก
ใบ, ดอก - แก้หลอดลมอักเสบ
ฐานรองดอก - แก้อาการปวดหัว ตาลาย ปวดฟัน ปวดท้อง โรคกระเพาะ ปวดประจำเดือน ฝีบวม
เมล็ด - แก้บิด มูกเลือด ขับหนองใน ฝีฝักบัว ขับปัสสาวะ เสมหะ แก้ไอ แก้ไข้หวัด
เปลือกเมล็ด - แก้อาการหูอื้อ
ราก - แก้อาการปวดท้อง แน่นหน้าอก ฟกช้ำ เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ 
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          1. แก้อาการปวดหัว ตาลาย  ใช้ฐานรองดอกที่แห้งแล้ว ประมาณ 25- 30 กรัม นำมาตุ๋น กับไข่ 1 ฟอง รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
          2. แก้อาการช่วยขับปัสสาวะขุ่นขาว และขับปัสสาวะ ให้ใช้แกนกลางลำต้น ยาวประมาณ 60 ซม. (หรือประมาณ 15 กรัม ) และรากต้นจุ้ยขึ้งฉ่ายราว 60 กรัม ใช้ต้มคั้นเอาน้ำ หรือใช้ผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน
          3. แก้อาการปวดท้องโรคกระเพาะ และปวดท้องน้อยก่อนหรือระยะที่เป็นรอบเดือน ให้ใช้ฐานรองดอก 1 อัน หรือประมาณ 30- 60 กรัม และกระเพาะหมู 1 อัน แล้วใส่น้ำตาลทรายแดง ประมาณ 30 กรัม ต้มกรองเอาน้ำรับประทาน 
          4. แก้อาการมูกโลหิต ให้ใช้เม็ดประมาณ 30 กรัม ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ต้มน้ำนานราว 60 นาที แล้วใช้ดื่ม
          5. ช่วยลดความดันโลหิต ให้ใช้ใบสด 60 กรัม (แห้ง 30 กรัม ) และโถวงู่ฉิกสด 60 กรัม (แห้ง 30 กรัม ) นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน
          6. แก้อาการปวดฟัน ให้ใช้ดอกที่แห้งแล้ว ประมาณ 25 กรัม นำมาสูบเหมือนยาสูบ หรือใช้ฐานรองดอก 1 อัน พร้อมรากเกากี้ นำมาตุ๋นกับไข่รับประทาน
         7. โรคไอกรน ให้ใช้แกนกลางลำต้นโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับน้ำตาล ทรายขาว ชงด้วยน้ำร้อนรับประทาน
         8. แก้อาการไอ ให้ใช้เมล็ดคั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่มกิน
         9. แก้อาการหูอื้อ ให้ใช้เปลือกเมล็ดประมาณ 10- 15 กรัม ต้มน้ำรับประทาน
        10. ขับพยาธิไส้เดือน ให้ใช้รากสดประมาณ 30 กรัม เติมน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย ต้มน้ำรับประทาน
        11. แผลที่มีเลือดไหล ให้ใช้แกนกลางลำต้นโขลกให้ละเอียดแล้วนำมาพอก บริเวณแผล 
สารเคมี : สารเคมีในใบ ถ้านำมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ (0.2%) มีฤทธิ์สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของพารามีเซียม (paramecium) และเชื้อแบคทีเรีย Bacillus aureus แต่ไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อ แบคทีเรีย Bacillus coli และนอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นยาต้านโรคมาลาเรีย และช่วยเสริมฤทธิ์ยาควินิน


สับปะรด

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Ananas comosus  (L.) Merr.

ชื่อสามัญ :   Pineapple

วงศ์ :   Bromeliaceae

ชื่ออื่น :  แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ขนุนทอง ยานัด ย่านนัด (ใต้) บ่อนัด (เชียงใหม่) เนะซะ (กะเหรี่ยงตาก) ม้าเนื่อ (เขมร) มะขะนัด มะนัด (เหนือ) หมากเก็ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) สับปะรด (กรุงเทพฯ) ลิงทอง (เพชรบูรณ์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลสบปร สูง 90-100 ซม. ลำต้นใต้ดิน ปล้องสั้น ไม่แตกกิ่งก้านมีแต่กาบใบห่อหุ้มลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนถี่ ไม่มีก้านใบ ใบเรียวยาว โคนใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ปลายแหลม ขอบใบมีหนาม แผ่นใบสีเขียวเข้มและเป็นทางสีแดง ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกเรียงอัดกันแน่นรอบแกนช่อดอก ก้านช่อใหญ่แข็งแรง กลีบดอก 3 กลีบ ด้านบนสีชมพูอมม่วง ด้านล่างสีขาว เกสรเพศผู้ 6 อัน เรียบกัน 2 ชั้น ผล เป็นผลรวมรูปรี โคนกว้าง ปลายสอบ มีใบสั้นเป็นกระจุกที่ปลายผล เรียกว่าตะเกียง ผลสุกสีเหลืองสดและฉ่ำน้ำ
ส่วนที่ใช้ :  ราก หนาม ใบสด ผลดิบ ผลสุก ไส้กลางสับปะรด เปลือก จุก แขนง ยอดอ่อนสับปะรด

สรรพคุณ :

ราก - แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ แก้กระษัย ทำให้ไตมีสุขภาพดี แก้หนองใน แก้มุตกิดระดูขาว แก้ขัดข้อ

หนาม - แก้พิษฝีต่างๆ แก้ไข้ ลดความร้อน ไข้พา ไข้กาฬ

ใบสด - เป็นยาถ่าย ฆ่าพยาธิในท้อง ยาขับปัสสาวะ แก้กระษัย

ผลดิบ - ใช้ห้ามโลหิต แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ฆ่าพยาธิ และขับระดู

ผลสุก - ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และบำรุงกำลัง ช่วยย่อยอาหาร แก้หนองใน มุตกิด กัดเสมหะในลำคอ

ไส้กลางสับปะรด - แก้ขัดเบา

เปลือก - ขับปัสสาวะ แก้กระษัย ทำให้ไตมีสุขภาพดี

จุก - ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้หนองใน มุตกิดระดูขาว

แขนง - แก้โรคนิ่ว

ยอดอ่อนสับปะรด - แก้นิ่ว

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ ใช้เหง้าสดหรือแห้งวันละ 1 กอบมือ (สดหนัก 200-250 กรัม แห้งหนัก 90-100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
คุณค่าด้านอาหาร : สับปะรด รับประทานเป็นผลไม้ มีแร่ธาตุและวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
สารเคมี :

เหง้า มี Protein

ลำต้น มี Bromelain, Peroxidase, Amylase, Proteinase

ใบ มี Hemicellulose, Bromelain, Campestanol

ผล มี Acetaldehyde, Ethyl acetate, Acetone

น้ำมันหอมระเหย มี Isobutanol.







กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ /The pituitary cough medicine


จิก





ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Barringtonia acutangula (L.) Garetn.


ชื่อสามัญ :   Indian oak


วงศ์ :   Barringtoniaceae


ชื่ออื่น :  กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ(หนองคาย), จิกนา(ภาคใต้), ตอง(ภาคเหนือ), มุ่ยลาย


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้น เป็นปุ่มปมและเป็นพู ผลัดใบ ชอบขึ้นริมน้ำ ใบ เดี่ยว ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ผิวใบมัน ใบออกสลับถี่ตามปลายยอด รูปใบยาวเหมือนรูปใบหอก หรือรูปไข่กลับ ใบยาว 30 เซนติเมตร ขอบใบจักถี่ ก้นใบสีแดง สั้นมาก ดอก ช่อ สีแดงห้อยลง บานจากโคนลงไปทางปลาย ช่อดอกยาว 30-40 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ และจะคงติดอยู่จนเป็นผล เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก มีสีชมพูถึงสีแดง ผล ยาวรีเป็นเหลี่ยม มีสันตามยาวของผล 4 สัน ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่
ส่วนที่ใช้ :  ราก น้ำจากใบ เปลือก ผล


สรรพคุณ :


ราก - ยาระบายอ่อน ๆ และใช้แทนควินินได้


น้ำจากใบ  - แก้ท้องเสีย


เปลือก  - ทาแก้แมลงกัดต่อย พอกแผล





ชะเอมไทย



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Albizia myriophylla  Benth.

วงศ์ :   Leguminosae - Mimosoideae


ชื่ออื่น :  ชะเอมป่า (กลาง) ตาลอ้อย (ตราด) เพาะซูโพ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) ย่านงาย (ตรัง) ส้มป่อยหวาน (ภาคเหนือ) อ้อยช้าง (สงขลา,นราธิวาส)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถารอเลื้อย ลำต้น กิ่งก้านมีหนามแหลมสั้น เปลือกต้นมีรอยแตกตามขวางลำต้น ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบย่อยรูปขอบขนาน ปลายใบรูปใบหอก โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด มีดอก 2 แบบ ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเล็ก เกสรเพศผู้ยาว ผล เป็นฝักแบน ผิวเรียบ ฝักอ่อนสีเขียว พอแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออก
ส่วนที่ใช้ : ราก เนื้อไม้

สรรพคุณ :

ราก  - แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ใช้แทนชะเอมเทศ

เนื้อไม้   - บำรุงธาตุ แก้กระหายน้ำ แก้โรคในคอ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

 แก้ไอขับเสมหะ 
       
        ใช้รากยาว 2-4 นิ้ว ต้มน้ำรับประทาน เช้า-เย็น ถ้าไม่ทุเทา รับประทานติดต่อกัน 2-4 วัน


ปีป


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Millingtonia hortensis   L.f.

ชื่อสามัญ :    Cork Tree , Indian Cork

วงศ์ :   BIGNONIACEAE

ชื่ออื่น :  กาซะลอง กาดสะลอง (ภาคเหนือ) เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นตรง เปลือกมีสีเทาเข้มแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศ รากเกิดเป็นหน่อ เจริญเป็นต้นใหม่ได้ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น กว้าง 13-20 ซม. ยาว 16-26 ซม. ก้านใบยาว 3.5-6 ซม. ตัวใบประกอบด้วยแกนกกกลางยาว 13-19 ซม. มีใบย่อย 4-6 คู่ ใบย่อย 4-6 คู่ กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 4-5 ซม. มีรูปร่างเป็นรูปหอกแกมรูปไข่ ฐานใบรูปลิ่ม ขอบหยักเป็นซี่หยาบ ปลายเรียวแหลม เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง ดอกเป็นดอกช่อกระขุกแยกแขนง ยาว 10-25 ซม. ดอกย่อยประกอบด้วย กลีบเลี้ยง มีสีเขียว กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 0.5 ซม. เชื่อมกันเป็นรูประฆังปลายตัด กลีบดอกมีสีขาว กลิ่นหอม กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 6-10 ซม. เชื่อมกันเป็นหลอดปากแตร แยกเป็น 5 แฉก 3 แฉกรูปขอบขนาน 2 แฉกล่างค่อนข้างแหลม เกสรเพศผู้มีจำนวน 4 อัน สองคู่ยาวไม่เท่ากัน เกสรเพศเมียมีจำนวน 1 อัน อยู่เหนือวงเกลีบ ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม ผล เป็นผลแห้งแตก ลักษณะแบนยาวขอบขนาน มีเนื้อ เมล็ดมีจำนวนมา เป็นแผ่นบางมีปีก
ส่วนที่ใช้ :  ราก ดอก ใบ

สรรพคุณ : 
          เป็นพืชที่นำมาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด ในตำรายาไทย เช่น

ราก - บำรุงปอด รักษาวัณโรค อาการหอบหืด

ดอก - ใช้รักษาอาการหอบหืด ไซนัสอักเสบ เพิ่มการหลั่งน้ำดี (cholagogue) เพิ่มรสชาติ นำดอกปีบแห้ง ผสมยาสูบมามวนเป็นบุหรี่ สำหรับสูบสูด เพื่อรักษาอาการหอบหืด

ใบ - ใช้มวนบุหรี่สูบแทนฝิ่น ขยายหลอดลม ใช้รักษาอาการหอบหืดได้เช่นกัน

วิธีและปริมาณที่ใช้
           แก้หอบหืด  ใช้ดอกแห้ง 6-7 ดอก มวนเป็นบุหรี่สูบ
          นักวิทยาศาสตร์ ได้ทำการสกัดส่วนต่าง ๆ ของปีบ เพื่อหาส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ในการรักษา ตรวจพบสาร Scutellarein และ Scutellarein-5-galactoside จากดอกปีบ ต่อมาตรวจพบว่าในใบ มีสาร hispidulin
           ในผล พบ acetyl oleanolic acid
           ในดอก มีสาร Scutellarein, hispidulin และ Scutellarein-5-galactoside
           ในราก พบสาร hentriacontane, lapachol, hentria contanol-1, B-stosterol และ paulownin
          ในส่วนของแก่นไม้และเปลือกของต้น พบสาร B-stosterol นำมาสก้ดออกจากดอกปีบแห้งโดยนำสารสกัดด้วย methanol มาแยกลำดับส่วนด้วย ปีโตรเลียมอีเธอร์ คลอโรฟอร์ม บิวธานอล และน้ำ นำส่วนต่าง ๆ เหล่านี้มาทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าส่วนสกัดจากคลอโรฟอร์ม จะมีฤทธิ์ขยายหลอดลมในขณะที่ส่วนสกัด Butanol และน้ำ จะมีฤทธิ์ทำให้หลอดลมหดตัว และพบว่าส่วนสกัดแยกส่วนด้วย Butanol จากสารสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ขยายหลอดลม จากการศึกษานี้ จึงเชื้อว่า hispidulin มีบทบาทสำคัญในการขยายหลอดลม ซึ่งขณะนี้กำลังมีผู้วิจัยศึกษาถึงฤทธิ์ ขยายหลอดลมในร่างกายของสัตว์ทดลอง
          สำหรับการศึกษาในด้านความปลอดภัย ของการใช้ดอกปีบในการรักษา ได้ศึกษาพิษเฉียบพลัน (acute) และกึ่งเฉียบพลัน (Subacute toxicity) อย่างไรก็ตาม การที่จะอธิบายได้ว่าผลที่เกิดขึ้นนี้ จากสารสกัดตัวใดนั้น ยังให้คำตอบไม่ได้ ต้องศึกษาสาระสำคัญแยกกันไป แม้ว่า hispidulin จะเป็นสาระสำคัญตัวหนึ่งที่แยกได้จากส่วนของคลอโรฟอร์ม พบว่าสาร hispidulin ที่มีปรากฏอยู่ในส่วนสกัดจากคลอโรฟอร์มนั้น จะปรากฏอยู่ประมาณ 0.364% W/W ดังนั้นจึงควรทำการศึกษาพิษของ hispidulin ที่แยกให้บริสุทธิ์ แล้วจึงจะให้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้อง
          การศึกษาฤทธิ์อื่น ๆ ของสาร hispidulin และสารอื่น ๆ ที่แยกได้จากปีบ ควรที่ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมตลอดจนกลไกที่เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์นั้นเพื่อประเมินศักยภาพของปีบ ในการนำมาใช้ในการรักษาหอบหืดในอนาคต


ไพล


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Zingiber  montanum  (Koenig.) Link ex Dietr. 
ชื่อพ้อง :   Zingiber  cassumunar  Roxb.

วงศ์ :   Zingiberaceae

ชื่ออื่น :  ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง(ฉาน-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกสูง 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ซึ่งประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 18-35 เซนติเมตร ดอกช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง ผลเป็นผลแห้งรูปกลม
ส่วนที่ใช้ :  เหง้าแก่สด ต้น ใบ ดอก
สรรพคุณ :

เหง้า 
- เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
- แก้บิด ท้องเดิน ขับประจำเดือนสตรี ทาแก้ฟกบวม แก้ผื่นคัน
- เป็นยารักษาหืด
- เป็นยากันเล็บถอด
- ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด

น้ำคั้นจากเหง้า - รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แพลงช้ำเมื่อย

หัว - ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี เลือดร้าย แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน

ดอก - ขับโลหิตกระจายเลือดเสีย

ต้น - แก้ธาตุพิการ แก้อุจาระพิการ

ใบ - แก้ไข้ ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อย

วิธีและปริมาณที่ใช้

แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม
ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม

รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง
ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอก
ใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)

แก้บิด ท้องเสีย
ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน

เป็นยารักษาหืด
ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น

เป็นยาแก้เล็บถอด
ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง

ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผลด้วย
ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย



มะแว้งเครือ


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Solanum trilobatum  L.

วงศ์ :   Solanaceae

ชื่ออื่น :  มะแว้งเถา (กรุงเทพฯ ) แขว้งเควีย (ตาก)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้อื่น ลำต้นกลม สีเขียวเป็นมัน มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ สีเขียวเป็นมัน แผ่นใบล่างมีหนามตามเส้นใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบที่ปลายกิ่ง  ดอกสีม่วง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 แฉก ย่น ปลายแหลม โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้สีเหลืองมี 5 อัน ผล รูปทรงกลม ขนาด 0.5 ซม. ผิวเรียบ ผลดิบสีเขียวมีลายขาว ผลสุกสีแดงใส เมล็ดแบน มีจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :  ราก ทั้งต้น ต้น ใบ ผลสดแก่โตเต็มที่ แต่ยังไม่สุก

สรรพคุณ :

ราก -  แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา แก้ไอ แก้ขับเสมหะให้ตก แก้หืด ขับปัสสาวะ แก้ไข้สันนิบาต บำรุงธาตุ แก้น้ำลายเหนียว กระหายน้ำ แก้วัณโรค

ทั้งต้น - ขับเหงื่อ แก้ไอ แก้หืด ขับปัสสาวะ

ต้น - แก้หญิงท้องขึ้นในขณะมีครรภ์ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว กระทุ้งพิษไข้ ขับปัสสาวะ

ใบ - บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว

ผลสด - แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ รักษาโรคเบาหวาน บำรุงดี แก้น้ำลายเหนียว บำรุงเลือด แก้โลหิตออกทางทวารหนักทวารเบา

วิธีและปริมาณที่ใช้
          แก้ไอ  แก้โรคหืดหอบ ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร

เอาผลมะแว้งเครือสดๆ 5-6 ผล นำมาเคี้ยวกลืน เฉพาะน้ำจนหมดรสขม แล้วคายกากทิ้งเสีย บำบัดอาการไอได้ผลชงัด

ใช้ผลสดๆ 5-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาน้ำ ใส่เกลือ จิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ

          รักษาเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด
          ใช้ผลมะแว้ง โตเต็มที่ 10-20 ผล รับประทานเป็นอาหาร เป็นผักจิ้มน้ำพริก

สารเคมี :
          ใบ  มี  Tomatid - 5 - en -3-  ß - ol
          ดอก  มี Alkaloids, Cellulose, Pectins Unidentified organic acid Lignins, Unidentified saponins
          ผล  มี Enzyme oxidase, Vitamin A ค่อนข้างสูง



มะแว้งต้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Solanum indicum  L.

วงศ์ :   Solanaceae

ชื่ออื่น :  มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งคม มะแคว้งดำ (ภาคเหนือ) แว้งคม (สงขลา, สุราษฎร์ธานี)  สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  หมากแฮ้งคง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-1.5 เมตร เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาล ยอดอ่อนและต้นอ่อนมีขนสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่หรือขอบขนาน กว้าง 4-10 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบหยักเว้า แผ่นใบสีเขียว มีขนนุ่ม ก้านใบยาว ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่งหรือซอกใบ ดอกย่อยมี 5-10 ดอก ดอกสีม่วง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉกแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ ปลายแหลม เกสรเพศผู้สีเหลือง ติดกันเป็นรูปกรวย ผล รูปทรงกลม ขนาด 1 ซม. ผิวเรียบ ผลดิบสีเขียวไม่มีลาย ผลสุกสีส้ม เมล็ดแบนจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :  ราก ทั้งต้น ใบ ผล

สรรพคุณ :

ราก -  แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ แก้ไข้สันนิบาต แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา

ทั้งต้น - แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา

ใบ - บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ

ผล - บำรุงน้ำดี รักษาโรคเบาหวาน แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางไต และกระเพาะปัสสาวะ แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไอ และแก้โรคหอบหืด
ใช้มะแว้งต้น ผลแก่
ในเด็ก ใช้ 2-3 ผล ใช้เป็นน้ำกระสายยา กวาดแก้ไอ ขับเสมหะ
ผู้ใหญ่ ใช้ 10-20 ผล รับประทาน เคี้ยว แล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ รับประทานบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ใช้ลดน้ำตาลในเลือด รักษาเบาหวาน
ใช้มะแว้งต้นโตเต็มที่ 10-20 ผล รับประทานเป็นอาหารกับน้ำพริก

สารเคมี :
          สาร Solasodine จะพบได้ในส่วน ผล ใบ และต้น นอกจากนี้ในใบและผลยังพบ Solanine , Solanidine  Beta-sitosterol และ Diogenin

คุณค่าทางด้านอาหาร : 
          ลูกมะแว้งต้น ใช้เป็นผักได้ แต่นิยมน้อยกว่ามะแว้งเครือ ลูกมะแว้งต้นมีวิตามินเอ ค่อนข้างสูง


มะกรูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Citrus hystrix  DC.

ชื่อสามัญ :   Leech lime, Mauritus papeda

วงศ์ :   Rutaceae

ชื่ออื่น :  มะขุน มะขูด (ภาคเหนือ) มะขู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  ส้มกรูด ส้มมั่วผี (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 2-8 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม มีต่อมน้ำมันอยู่ตามผิวใบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ ก้านใบมีปีกดูคล้ายใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 แฉก โคนกลีบดอกติดกัน ผล เป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลเรียวเป็นจุก ผิวขรุขระ มีต่อมน้ำมัน ผลอ่อนสีเขียวแก่ สุกเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยว เมล็ดกลมรี สีขาว มีหลายเมล็ด
ส่วนที่ใช้ :  ราก ใบ ผล ผิวจากผล

สรรพคุณ :

ราก -  กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายในและแก้เสมหะเป็นพิษ

ใบ - มีน้ำมันหอมระเหย

ผล, น้ำคั้นจากผล - ใช้แต่งกลิ่น สระผมรักษาชันนะตุ รังแค ทำให้ผมสะอาด

ผิวจากผล 
- ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น
- เป็นยาบำรุงหัวใจ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้เสมหะ
ฝานผิวมะกรูดสดเป็นชิ้นเล็กๆ 1 ช้อนแกง เติมการบูร หรือ พิมเสน 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือด แช่ทิ้งไว้ ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1 ถึง 2 ครั้ง แต่ถ้ายังไม่ค่อยทุเลา จะรับประทานติดต่อกัน 2-3 สะรก็ได้

ใช้สระผมทำให้ผมสะอาดชุ่มชื้น เป็นเงางาม ดกดำ ผมลื่นด้วย
โดยผ่ามะกรูดเป็น 2 ชิ้น เมื่อสระผมเสร็จแล้ว เอามะกรูดสระซ้ำ ใช้มะกรูดยีไปบนผม น้ำมะกรูดเป็นกรด จะทำให้ผมสะอาด แล้วล้างผมให้สมุนไพรออกไปให้หมด หรือใช้มะกรูดเผาไฟ นำมาผ่าซีกใช้สระผม จะรักษาชันนะตุ ทำให้ผมสะอาดเป็นมัน


มะดัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Garcinia schomburgkiana  Pierre.

วงศ์ :  Clusiaceae (Guttiferae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 7-10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลอมดำ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 2.5 ซม. ยาว 9 ซม. ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบลื่น สีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 0.5-1 ศทซ ดอก ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 3-6 ดอก ตามซอกใบ มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้ ดอกสีเหลืองอมส้ม กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ค่อนข้างกลม กลีบดอกมี 4 กลีบ รูปรีแกมรูปไข่ ปลายกลีบดอกมน ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 10-12 อัน ผล รูปรีปลายแหลม ผิวเรียบสีเขียว เป็นมันลื่น มีรสเปรี้ยว เมล็ดมี 3-4 เมล็ด ติดกัน
ส่วนที่ใช้ :  ใบ  ราก  ผล

สรรพคุณ :

ใบและราก
- เป็นยาดอกเปรี้ยวเค็ม และปรุงเป็นยาต้ม รับประทานแก้กระษัย แก้ระดูเสีย ขับฟอกโลหิต
- เป็นยาระบายอ่อนๆ
- เป็นยาสกัดเสมหะในลำคอดี  

ผล 
- เป็นยาสกัดเสมหะในลำคอดี
- เป็นอาหาร


มะขามป้อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Phyllanthus emblica  L.

ชื่อสามัญ :  Emblic myrablan, Malacca tree

วงศ์ :   Euphorbiaceae

ชื่ออื่น :   กำทวด (ราชบุรี) กันโตด (เขมร-จันทบุรี) สันยาส่า มั่งลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-12 เมตร เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งก้านแข็ง เหนียว ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน กว้าง 1- 5 มม. ยาว 4-15 มม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเข้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ดอก ออกเป็นช่อ เป็นกระจุกเล็กๆ ดอกสีเหลืองอ่อนออกเขียว กลีบดอกมี 5-6 กลีบ มีเกสรเพศผู้สั้นๆ 3-5 อัน ก้านดอกสั้น ผล รูปทรงกลม ขนาด 1.3-2 ซม. เป็นพูตื่นๆ 6 พู ผิวเรียบ  ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง พอแก่เป็นสีเหลืองออกน้ำตาล เมล็ดรูปรี เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ส่วนที่ใช้ : น้ำจากผล ผลโตเต็มที่

สรรพคุณ :

น้ำจากผล  -  แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ

ผล - แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ผลโตเต็มที่ จำนวนไม่จำกัด รับประทานเป็นผลไม้



มะนาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Citrus aurantifolia (Christm.)  Swingle

ชื่อสามัญ :   Common lime

วงศ์ :   Rutaceae

ชื่ออื่น :  ส้มมะนาว มะลิว (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้พุ่ม สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีหนามแหลม เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลปนเทา ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยใบเดียว รูปไข่หรือรูปรียาว กว้าง 3-5 ซม. ยาว4-8 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนมีปีกแคบๆ ขอบใบหยัก แผ่นใบมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ตามผิวใบ ดอก ออกเป็นช่อสั้น 5-7 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบดอกมี 4-5 กลีบ หลุดร่วงง่าย ผล รูปทรงกลม ผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม พอแก่เป็นสีเหลือง ข้างในแบ่งเป็นห้องแบบรัศมี มีรสเปรี้ยว เมล็ดกลมรี สีขาว มี 10-15 เมล็ด 
ส่วนที่ใช้ :  น้ำมะนาว (น้ำคั้นจากผล)  ราก  ใบ  ดอก  ผล  เมล็ด

สรรพคุณ :

น้ำมะนาว  - แก้โรคลักปิดลักเปิด (เลือดออกตามไรฟัน) ทำอาหาร ขับเสมหะ ฟอกโลหิต ทำให้ผิวนุ่มนวล แก้ซาง บำรุงเสียง บำรุงโลหิต ขับระดู แก้เล็บขบ แก้ขาลาย จิบแก้ไอ ดับกลิ่นเหล้า ฆ่าพยาธิในท้อง รักษาผม ขับลม รักษาลมพิษ แก้ริดสีดวง แก้ระดูขาว แก้พิษยางน่อง แก้ไข้ แก้ไข้กาฬ แก้ฝี แก้ปวด แก้อักเสบ

ราก - กระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษสำแดง แก้สติหลงลืม แก้ไข้ แก้ไข้กาฬ แก้ฝี แก้ปวด แก้อักเสบ ถอนพิษไข้ กลับไข้ซ้ำ

ใบ - ฟอกโลหิต แก้ตับทรุด

ดอก - แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ ) แก้ไอ ขับเสมหะ

ผล - แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง ทาแก้ผิวแห้งตกสะเก็ด แก้สิวฝ้า แก้ส้นเท้าแตก แก้ไอ รักษาแผลจากแมลงมีพิษ

เมล็ด - แก้พิษตานซาง แก้หายใจขัด แก้ไข้ขับเสมหะ แก้พิษฝีภายใน

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

ยาแก้ไอขับเสมหะ
น้ำในผลที่โตเต็มที่ น้ำมะนาว 2-3 ช้อนแกง, เมล็ดมะนาว 10-20 เมล็ด  นำน้ำมะนาวเติมเกลือเล็กน้อย จิบ จะช่วยทำให้เสมหะถูกขับออก และเสียงดี ถ้าเป็นเมล็ดมะนาวนำไปคั่วให้เหลือง บดให้ละเอียด เติมพิมเสน 2-5 เกล็ด ชงน้ำร้อนรับประทาน เป็นยาขับเสมหะ

ยาป้องกันหรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด)
ใช้น้ำจากผลที่แก่จัดไม่จำกัด เติมเกลือ น้ำตาล น้ำแข็ง ใช้เป็นเครื่องดื่ม หรือจะใส่ในอาหาร ก็ได้ผลเช่นกัน

ยาห้ามเลือด ใส่แผลสด
ใช้น้ำจากผล ครึ่งช้อนชา หรือ 1/4 ช้อนแกง แผลถูกมีดบาด เลือดไม่หยุด บีบน้ำมะนาวลงไป 3-4 หยด เลือดจะหยุด

สารเคมี :
          ใบ  มี Alcohols, Aldehydes, Elements, Terpenoids, Citral
          ผล  มี  1 - Alanine, γ - Amino butyric acid, 1 - Glutamic acid
          เมล็ด มี  Glyceride Oil
          น้ำมันหอมระเหย   มี  P - Dimethyl - a - Styrene, Terpinolene


บำรุงน้ำนม / Nourishing milk.


กล้วยน้ำว้า


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Musa ABB cv. Kluai 'Namwa'

ชื่อสามัญ :   Banana

วงศ์ :   Musaceae

ชื่ออื่น :  กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่, เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 3.5 เมตร ลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน กาบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม สีเขียวอ่อน ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 25-40 ซม. ยาว 1-2 เมตร ปลายใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ด้านล่างมีนวลสีขาว เส้นใบขนานกันในแนวขวาง ก้านใบเป็นร่องแคบ ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอดห้อยลง เรียกว่า หัวปลี มีใบประดับขนาดใหญ่หุ้มสีแดงเข้ม เมื่อบานจะม้วนงอขึ้น ด้านนอกมีนวล ด้านในเกลี้ยง ผล รูปรี ยาว 11-13 ซม. ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก เนื้อในมีสีขาว พอสุกเปลือกผลเป็นสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน รับประทานได้ หวีหนึ่งมี 10-16 ผล บางครั้งมีเมล็ด เมล็ดกลม สีดำ
ส่วนที่ใช้ : หัวปลี  เนื้อกล้วยน้ำว้าดิบ หรือห่าม กล้วยน้ำว้าสุกงอม ราก ต้น ใบ ยางจากใบ

สรรพคุณ :

ราก - แก้ขัดเบา

ต้น - ห้ามเลือด แก้โรคไส้เลื่อน

ใบ - รักษาแผลสุนัขกัด ห้ามเลือด

ยางจากใบ - ห้ามเลือด สมานแผล

ผล - รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องเสีย ยาอายุวัฒนะ แก้โรคบิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ริดสีดวง

กล้วยน้ำว้าดิบ - มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเดิน แก้โรคกระเพาะ และอาหารไม่ย่อย

กล้วยน้ำว้าสุกงอม - เป็นอาหาร ยาระบาย สำหรับผู้ที่อุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นแรกจนกระทั่งถ่ายเป็นเลือด

หัวปลี - (ช่อดอกของต้นกล้วย จำนวนไม่จำกัด) ขับน้ำนม

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

ขับน้ำนม - ใช้หัวปลีแกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ

แก้ท้องเดินท้องเสีย
ใช้กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่ามมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มนานครึ่งชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1/2 - 1 ถ้วยแก้ว ให้ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ใน 4-5 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุกๆ 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 3-4 ครั้ง

สรรพคุณเด่น :

แก้โรคกระเพาะ ท้องผูก
1. แก้โรคกระเพาะ - นำกล้วยน้ำว้าดิบ (ถ้าเป็นกล้วยกักมุกดิบจะดีกว่า) มาปอกเปลือก แล้วนำเนื้อมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ตากแดด 2 วันให้แห้งกรอบ บดเป็นผงให้ละเอียด ใช้รับประทาน ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำข้าว น้ำผึ้ง (น้ำธรรมดาก็ได้) รับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง และก่อนนอนทุกวัน
2. แก้ท้องผูก - ให้รับประทานกล้วยน้ำว้าสุกงอม ครั้งละ 2 ผล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 1/2 ชั่วโมง เวลารับประทานควรเคี้ยวให้ละเอียดที่สุด
3. แก้ท้องเดิน - ใช้เนื้อกล้วยน้ำว้าห่ามรับประทาน หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบ ฝานเป็นแว่น ตากแห้งรับประทาน

สารเคมีที่พบ :

หัวปลี  มีธาตุเหล็กมาก

หัวปลี และราก มี Triterpene หรือ Steroid
ผลกล้วย ทุกชนิดประกอบด้วย น้ำ แป้ง โปรตีน ไขมัน เส้นใย เกลือแร่ต่างๆ (โดยเฉพาะแคลเซียม เหล็ก และโปรแตสเซียมในกล้วยหอมมีมาก) วิตามิน และเอนไซม์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมี Serotonin Noradrenaline และ Dopamine

ผลดิบ มีแป้ง Tannin acid, Gallic acid และ Pectin มาก

กล้วยหอมสุก ให้กลิ่น และรสของ Amyl acetate, Amylbutyrate Acetaldehyde, Ethyl alcohol และ Methyl alcohol

น้ำยาง มี Pelargonidin, Cyanidin, Delphinidin Palonidin Petunidin และ Malvidin

ประโยชน์ทางยาของกล้วยหอม
          กล้วยหอมเป็นผลไม้ รสหวาน เย็น ไม่มีพิษ สารอาหารที่สำคัญๆ ในกล้วยหอม ได้แก่ แป้ง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล วิตามินหลายชนิด จัดเป็นผลไม้บำรุงร่างกายดี นอกจากนี้กล้วยหอมยังสามารถใช้รักษาโรคได้หลายชนิด เช่น เป็นยาทำให้ปอดชุ่มชื่น แก้กระหาย ถอนพิษ นอกจากนี้ยังพบว่า มีฤทธิ์รักษาตามตำรับยา ดังนี้

รักษาความดันโลหิตสูง - เอาเปลือกกล้วยหอมสด 30-60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าเอาปลีกล้วยต้มรับประทานเป็นประจำ จะช่วยป้องกันเส้นเลือดในสมองแตกได้

รักษาริดสีดวงทวาร แก้ท้องผูก - รับประทานกล้วยหอมสุกตอนเช้า ขณะท้องว่างวันละ 1-2 ผล ทุกวัน

รักษามือเท้าแตก - เอากล้วยหอมที่สุกเต็มที่ เจาะรูเล็กๆ ที่ปลายข้างหนึ่ง แล้วบีบเอากล้วยออกมาทาที่เท้าแตก ทิ้งไว้หลายชั่วโมง จึงล้างออก จะรู้สึกดีขึ้น



ละหุ่ง



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Ricinus communis  L.

ชื่อสามัญ :   Castor Bean

วงศ์ :   Euphorbiaceae

ชื่ออื่น :  มะโห่ง, มะโห่งหิน (ภาคเหนือ), ปี่มั้ว (จีน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว รูปผ่ามือกว้างและยาว 15-30 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด แยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู เปลือกเมล็ดสีน้ำตาล มีหลายชนิด ขึ้นกับพันธุ์ละหุ่ง
ส่วนที่ใช้ :  ใบ ราก น้ำมันจากเมล็ด

สรรพคุณ :

ใบ - เป็นยาขับน้ำนม แก้เลือดพิการ

ราก - แก้พิษไข้เซื่องซึม และเป็นยาสมานด้วย

น้ำมันจากเมล็ด - ใช้เป็นยาระบายในเด็ก น้ำมันหล่อลื่น เครื่องจักร ใช้ทำสบู่ ใช้เป็นอาหารสัตว์ และใช้ทำสีโป๊รถ

โปรตีนจากละหุ่ง -ส่วนหนึ่งของโปรตีนไรซีน ซึ่งเป็นพิษคือ dgA สามารถจับกับ Antibody ของไวรัสเอดส์ เมื่อพบเซลล์ที่มีไวรัส จะปล่อย Ricin ซึ่งทำให้ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส โดยที่มีผลต่อเซลล์ปกติเพียง 1/1,000 ของเซลล์ที่มีไวรัส และไม่มีผลต่อ Daudi Cell ด้วยความสามารถในการเลือกจับเฉพาะเซลล์ที่มีไวรัส 
** การค้นพบนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการพบยาที่ป้องกัน หรือเลื่อนเวลาในการเกิดโรคเอดส์



กระทือ



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Zingiber zerumbet  (L.) Smith.

วงศ์ :   Zingiberaceae

ชื่ออื่น :  กระทือป่า กะแวน กะแอน แสมดำ แฮวดำ เฮียวดำ (ภาคเหนือ) เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลำต้นเหนือดินกลม สูง 0.9-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน ต้นโทรมในหน้าแล้งแล้วงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปรูยาว กว้าง 5-7.5 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อแทงออกจากเหง้าขึ้นมา ช่อดอกรูปทรงกระบอก มีใบประดับสีเขียวแกมแดง เรียงซ้อนกันแน่นเป็นระเบียบ ดอกสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกบานไม่พร้อมกัน ผล แบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม สีแดง เมล็ดสีดำ
ส่วนที่ใช้ :  เหง้าสด

สรรพคุณ : บำรุงและขับน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้ท้องอืด บิด ปวดมวนในท้อง
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ราก - แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้ต่างๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้เคล็ดขัดยอก
เหง้า
- บำรุงน้ำนม แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด บิดป่วงเบ่ง
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ขับผายลม ขับปัสสาวะ
- แก้จุกเสียด แก้เสมหะเป็นพิษ
- ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร
- เป็นยาบำรุงกำลัง
- แก้ฝี
ต้น
- แก้เบื่ออาหาร ช่วยเจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมีรส
- แก้ไข้
ใบ
- ขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ
- แก้เบาเป็นโลหิต
ดอก
- แก้ไข้เรื้อรัง
- ผอมแห้ง ผอมเหลือง
- บำรุงธาตุ แก้ลม
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด และปวดท้อง บิด
โดยใช้หัวหรือเหง้ากระทือสด ขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 หัว (ประมาณ 20 กรัม) ย่างไฟพอสุก ตำกับน้ำปูนใสครึ่งแก้ว คั้นเอาน้ำดื่มเวลามีอาการ
บางท้องถิ่นใช้หัวกระทือประกอบอาหาร เนื้อในมีรสขมและขื่นเล็กน้อย ต้องหั่นแล้วขยำกับน้ำเกลือนานๆ
กระทือเป็นพืชที่มีสารอาหารน้อย
สารเคมี : 
          Afzelin, Camphene, Caryophyllene
           น้ำมันหอมระเหยมี Zerumbone, Zerumbone Oxide




กุ๊ยช่าย


ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Allium tuberosum  Rottl. ex Spreng

ชื่อสามัญ :   Chinese Chives, Leek

วงศ์ :   Liliaceae (Alliaceae)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 30-45 ซม. มีเหง้าเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตัน ยาว 40-45 ซม. โดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว ยาวประมาณ 5 มม. โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย ดอกบานกว้างประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม กว้างยาวประมาณ 4 มม. ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล แบน ขรุขระ
ส่วนที่ใช้ :  เมล็ด ต้น และใบสด

สรรพคุณ :

เมล็ด 
- เป็นยาฆ่าสัตว์ต่างๆ ให้ตายได้
- รับประทานขับพยาธิเส้นด้ายหรือแซ่ม้า
- รับประทานกับสุราเป็นยาขับโลหิตประจำเดือนที่เป็นลิ่มเป็นก้อนได้ดี  

ต้นและใบสด
- เป็นยาเพิ่ม และขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด
- ใช้รับปะทานเป็นอาหาร
- ใช้ฆ่าเชื้อ (Antiseptic)
- แก้โรคนิ่ว และหนองในได้ดี

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

เมล็ด 
- เผาไฟเอาควันรมเข้าในรูหู เป็นยาฆ่าสัตว์ต่างๆ ให้ตายได้
- บางจังหวัดใช้เมล็ดคั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันยางชุบสำลีอุดฟันที่เป็นรูทิ้งไว้ 1-2 วัน เป็นยาฆ่าแมลงที่กินอยู่ในรูฟันให้ตายได้

ต้นและใบสด
- ใช้จำนวนไม่จำกัดแกงเลียงรับประทานบ่อย ขับน้ำนมหลังคลอด
- ใช้ต้นและใบสด ตำให้ละเอียดผสมกับสุราใส่สารส้มเล็กน้อย กรองเอาน้ำรับประทาน 1 ถ้วยขา แก้โรคนิ่ว และหนองใน