วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

กลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ/Energy healthy

กฤษณา



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Aquilaria crassna  Pierre ex Lecomte

ชื่อสามัญ :   Eagle wood

วงศ์ :   Thymelaeaceae

ชื่ออื่น :  ไม้หอม (ภาคตะวันออก)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 18-30 เมตร เปลือกสีเทา แตกเป็นร่องยาวตื้นๆ ตามกิ่งอ่อนมีขนสีขาวปกคลุม ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี กว้าง 3-5 ซม. ยาว 6-11 ซม. โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งแหลม แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบเกลี้ยง สีเขียว มีขนประปรายตามเส้นใบด้านล่าง ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 0.2-0.7 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกสีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 แฉก ติดทน กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้มี 10 อัน ผล รูปกลมรี มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวขรุขระเป็นลายสีเขียว มีขนละเอียดสั้นคล้ายกำมะหยี่ พอแก่แตกอ้าออก เมล็ดกลมรี สีน้ำตาลเข้ม มี 1-2 เมล็ด  
ส่วนที่ใช้ :  เนื้อไม้  แก่น  และชัน

สรรพคุณ :

เนื้อไม้  
- รสขม หอม เป็นยาบำรุงหัวใจ (คือมีอาการหน้าเขียวตาเขียว)
- ช่วยตับ ปอด ให้เป็นปกติ แพทย์ตามชนบทใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้ลมหน้ามืดวิงเวียน ผสมเครื่องหอมทุกชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม เช่น ธูปหอม น้ำอบไทย
- สุมศีรษะ แก้ลมทรางสำหรับเด็ก รับประทานให้ชุ่มชื่นหัวใจ กฤษณาชนิด Aquilaria agallocha ใช้เนื้อไม้เป็นยารักษาโรคปวดข้อ

น้ำมันจากเมล็ด - รักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนังได้

วิธีใช้ :
          เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ รวมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น เกษรทั้ง 5 และอื่นๆ





จันทน์เทศ





ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Myristica fragrans  Houtt.

ชื่อสามัญ :   Nutmeg tree

วงศ์ :   Myristicaceae

ชื่ออื่น :  จันทน์บ้าน (เงี้ยว-ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 5-18 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีเทาอมดำ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี กว้าง 4-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ออกเป็นช่อตามซอกใบ สีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกออกเป็น 3 แฉก ไม่มีกลีบดอก ผล รูปทรงค่อนข้างกลม ผิวเรียบ สีเหลืองนวล พอแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก เห็นรก หุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดสีน้ำตาลมี 1 เมล็ด 
ส่วนที่ใช้ :  ผล  ดอก  แก่น  ราก และเมล็ด

สรรพคุณ :

ผล - ให้ Myristica Oil ซึ่งเป็น Volatile Oil ประกอบด้วย Myristiein และ Safrole ซึ่งเป็นตัวแต่งกลิ่น และขับลม

ดอก - ใช้เป็นเครื่องเทศ และขับลม

แก่น - แก้ไข้ บำรุงตับ ปอด

ราก - ขับลม แต่งกลิ่น เครื่องเทศ เจริญอาหาร

เมล็ด - ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นเครื่องเทศ เจริญอาหาร

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          รกและเมล็ดขนาด 0.5 กรัม หรือประมาณ 1-2 เมล็ด หรือใช้รก 4 อัน ป่นรก หรือเมล็ดให้เป็นผงละเอียด ชงน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน





จันทน์ลูกหอม





ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Diospyros decandra  Lour.

วงศ์ :   Ebenaceae

ชื่ออื่น :  จันอิน จันโอ จันขาว จันลูกหอม อิน (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลแข้มอมเทา กิ่งอ่อนยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม กิ่งก้านเหนียว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 7-10 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบเป็นมันลื่น สีเขียวเข้ม ดอก ดอกแยกเพศอยู่ต้นเดียวกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อ ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเดี่ยว ดอกสีขาวนวล กลีบดอกเชื่อมติดกันสั้นๆ ผล รูปกลมแป้นเรียกว่า ลูกจัน ไม่มีเมล็ด ผลกลม เรียกว่า อิน มีเมล็ด ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอม รับประทานได้ ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดทน
ส่วนที่ใช้ :  เนื้อไม้  ผล

สรรพคุณ :

เนื้อไม้  -  มีรสขม หวาน ทำให้เกิดปัญญา บำรุงประสาท บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น แก้ไข้ แก้ปอดตับพิการ แก้ดีพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เหงื่อตกหน้า ขับพยาธิ

ผล - ผลสุกสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม มีรสหวานและฝาดเล็กน้อย รับประทานกับน้ำกะทิสดเป็นอาหาร


โด่ไม่รู้ล้ม



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Elephantopus  scaber  L.

ชื่อสามัญ :   Prickly-leaved elephant's foot

วงศ์ :   Asteraceae

ชื่ออื่น :  หนาดผา เคยโป้ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าปราบ หญ้าสามสิบสองหาบ หญ้าไฟนกคุ้ม (ภาคเหนือ)  ตะชีโกวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย) คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ) หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ทั้งต้นสด ไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงสั้นอยู่ในระดับพื้นผิวดิน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนกันแน่นที่โคนต้น รูปขอบขนาน กว้าง 2-6 ซม.ยาว 10-25 ซม. ปลายใบและโคนใบมน แผ่นใบมีขนสากมือ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบสีขาวหนา ดอก ออกเป็นช่อแบบแขนงที่ปลายยอด มีใบประดับ 2 ใบ ดอกสีม่วง กลีบดอกเรียวยาว ปลายกลีบดอกแหลม โคนเชื่อมติดกัน ก้านช่อดอกเหนี่ยวเมื่อโดนเหยียบก้านช่อดอกจะตั้งขึ้นมาใหม่เหมือนเดิม เกสรเพศผู้เป็นเส้นตรงมีอับเรณูสีม่วง ผล รูปทรงกลม มีสัน 10 สัน ผิวมีขนนุ่มปกคลุม

ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้นสด

สรรพคุณ : 
          มีรสขื่น แก้ปัสสาวะ และบำรุงความกำหนัด มีรสกร่อย จืด ขื่นเล็กน้อย รับประทานทำให้เกิดกษัยแต่มีกำลัง ทั้งต้นต้มรับประทานต่างน้ำ แก้ไข้จับสั่นหรือไข้มาเลเรียดี ใช้ต้มรับประทานแก้ไอ สำหรับสตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ บางตำรากล่าวว่า แก้กษัย บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับไส้เดือน แก้กามโรค แก้อักเสบ ห้ามเลือดกำเดา แก้ดีซ่าน นิ่ว บิด เหน็บชา ท้องมาน ฝีฝักบัว
ข้อห้ามใช้ : 
          ห้ามใช้ในผู้หญิงท้อง และผู้ที่อาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะและปริมาณมาก มีชั้นฝ้าบนลิ้นขาวและหนา




มะตูม





ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Aegle marmelos  (L.) Correa ex Roxb.

ชื่อสามัญ :   Bael

วงศ์ :   Rutaceae

ชื่ออื่น :  มะปิน (ภาคเหนือ) กระทันตาเถร ตุ่มเต้ง ตูม (ปัตตานี) มะปีส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้น สูง 10 - 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบปลาย รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 5-14 ซม. ปลายใบแหลม แผ่นใบบางเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบย่อยใบปลายจะยาวกว่าใบที่คู่กัน ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก รูปไข่กลับยาว ด้านนอกสีเขียวอ่อน ด้านในสีขาวนวล มีน้ำเมือก มีกลิ่นหอม ผล รูปรีกลมหรือยาว ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกเป็นสีเขียวอมเหลือง เนื้อในสีส้มปนเหลือง นิ่ม เมล็ดมีจำนวนมาก

ส่วนที่ใช้ :  ผลโตเต็มที่  ผลแก่จัด ผลสุก ผลอ่อน ใบ  ราก

สรรพคุณ :
      ผลโตเต็มที่ - ฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้งคั่วให้เหลือง ชงรับประทาน แก้ท้องเดิน ท้องเสีย ท้องร่วง โรคลำไส้เรื้อรังในเด็ก

ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก - น้ำมาเชื่อมรับประทานต่างขนมหวาน จะมีกลิ่นหอม และรสชวนรับประทาน บำรุงกำลัง รักษาธาตุ ขับลม

ผลสุก - รับประทานต่างผลไม้ เป็นยาระบายท้อง และยาประจำธาตุของผู้สูงอายุ ที่ท้องผูกเป็นประจำ

ใบ - ใส่แกงบวช เพื่อแต่งกลิ่น

ราก - แก้หืด หอบ แก้ไอ แก้ไข้ ขับลม แก้มุตกิต

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ใช้ผลโตเต็มที่ ฝานตากแห้ง คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่ม ใช้ 2-3 ชิ้น ชงน้ำเดือดความแรง 1 ใน 10 ดื่มแทนน้ำชา หรือชงด้วยน้ำเดือด 2 ถ้วยแก้ว ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว

สารเคมี :
          ผลมะตูม  ประกอบด้วยสารที่มีลักษณะเป็นเมือกๆ คือ mucilage, pectin, tannin, volatile oil และสารที่มีรสขม
          ใบ  มี aegeline (steroidal alkaloid) aeglenine, coumarin



มะพร้าว



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cocos nucifera   L. var. nucifera

ชื่อสามัญ :   Coconut

วงศ์ :   Palmae

ชื่ออื่น :  ดุง (จันทบุรี) เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์) โพล (กาญจนบุรี) คอส่า (แม่ฮ่องสอน) พร้าว (นครศรีธรรมราช) หมากอุ๋น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 20-30 เมตร ลำต้นกลม ตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน เปลือกต้นแข็ง สีเทา ขรุขระ มีรอยแผลใบ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียน รูปพัดจีบ กว้าง 3.5- ซม. ยาว 80-120 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวแก่เป็นมัน โคนก้านใบใหญ่แผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อแขนงตามซอกใบ ดอกเล็ก กลีบดอกที่ลดรูปมี 4-6 อัน ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อดอก ไม่มีก้านดอก ผล รูปทรงกลมหรือรี ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวพอแก่เป็นสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในแข็งเป็นกะลา ชั้นต่อไปเป็นเนื้อผลสีขาวนุ่ม ข้างในมีน้ำใส

ส่วนที่ใช้ : 

เปลือกผล - ผลแก่ปอกเปลือกตากแห้งเก็บไว้ใช้

กะลา - ตากแห้ง หรือเผาเป็นถ่าน บดเป็นผงเก็บไว้ใช้ โดยเผากะลาให้ลุกโชน เอากะลามัง หรือกระทะเหล็กครอบไม่ให้อากาศเข้าได้ จนไฟดับหมดแล้วปล่อยไว้ให้เย็น เปิดภาชนะเหล็กที่ครอบไว้ออก จะได้ถ่านจากกะลามะพร้าว นำไปบดเป็นผง เก็บไว้ในขวดปิดสนิท เก็บไว้ใช้ และที่ก้นภาชนะเหล็กมีน้ำมันเหนียวสีน้ำตาล ขูดเก็บไว้ใช้ เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อนได้ดี

เนื้อมะพร้าว - เนื้อมะพร้าว (ติดกับกะลา) มีสีขาว ใช้สด หรือหั่นฝอย ใส่น้ำเคี่ยว เอาน้ำมันมะพร้าวเก็บไว้ใช้ หรือตากแห้ง บีบและเคี่ยวเอาน้ำมันเก็บไว้ใช้ น้ำมันใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอม น้ำมันมะพร้าวในที่อุ่นจะเหลวใส ในที่เย็นจะข้นขาวคล้ายเนยแข็ง มีกลิ่นเฉพาะตัว

น้ำ - น้ำมะพร้าว อ่อน และน้ำมะพร้าวแก่ใช้สด

ราก - ใช้สด เก็บได้ตลอดปี

ดอก - ใช้สด

เปลือกต้น - ใช้สด เก็บได้ตลอดปี

สารสีน้ำตาล - ที่ออกมาย้อยแข็งอยู่ใต้ใบ เก็บไว้ใช้

สรรพคุณ :

เปลือกผล  - รสฝาดขม สุขุม ใช้ห้ามเลือด แก้ปวด เลือดกำเดาออก โรคกระเพาะ และแก้อาเจียน

กะลา - แก้ปวดเอ็น ปวดกระดูก

ถ่านจากกะลา - รับประทานแก้ท้องเสีย และดูดสารพิษต่างๆ

น้ำมันที่ได้จากการเผากะลา - ใช้ทา บาดแผล และโรคผิวหนัง แก้กลาก อุดฟัน แก้ปวดฟัน

เนื้อมะพร้าว - รสชุ่ม สุขุม ไม่มีพิษ รับประทานบำรุงกำลัง ขับพยาธิ

น้ำมันจากเนื้อมะพร้าว - ใช้ทาแก้กลาก และบาดแผลที่เกิดจากความเย็นจัด หรือถูกความร้อน และใช้ผสมทาแก้โรคผิวหนังต่างๆ นอกจากที่ยังใช้เป็นอาหาร ทาแก้ผิวหนัง แห้ง แตกเป็นขุย และชนิดที่บริสุทธิ์มากๆ ใช้เป็นตัวทำลายในยาฉีดได้

น้ำมะพร้าว - รสชุ่ม หวานสุขุม ไม่มีพิษ แก้กระหาย ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้พิษ อาเจียนเป็นเลือด ท้องเสีย บวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ในยามจำเป็น น้ำมะพร้าวอ่อนอายุประมาณ 7 เดือน อาจใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดแก้ภาวะการเสียน้ำได้

ราก - รสฝาด หวาน ใช้ขับปัสสาวะ และแก้ท้องเสีย ต้มน้ำอมแก้ปากเจ็บ

เปลือกต้น - เผาเป็นเถ้า ใช้ทาแก้หิด และสีฟันแก้ปวดฟัน

สารสีน้ำตาล - ไหลออกมาแข็งตัวที่ใต้ใบ ใช้ห้ามเลือดได้ดี

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          มะพร้าวเก็บในช่วงผลแก่ และนำมาเคี่ยวเป็นน้ำมัน ทาแก้ปวดเมื่อย และขัดตามเส้นเอ็น เจือกับยาที่มีรสฝาด รักษาบาดแผลได้ 
          ใช้น้ำมะพร้าว มาปรุงเป็นยารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกมานาน วิธีใช้ทำได้โดย การนำเอาน้ำมันมะพร้าว 1 ส่วน ในภาชนะคนพร้อมๆ กับเติมน้ำปูนใส 1 ส่วน โดยเติมทีละส่วนพร้อมกับคนไปด้วย คนจนเข้ากันดี แล้วทาที่แผลบ่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น